คนไทยกับการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้จริงๆ ในเทศกาลปีใหม่ทุกๆปีก็จะมีนักแสวงบุญพากันไปขอพรสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว หนึ่งในวัดของแปดริ้ว หรือจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ประชาชนมาสักการะไม่น้อยไปกว่าวัดหลวงพ่อโสธรนั้นก็คือ วัดสมานรัตนาราม นั่นเอง ซึ่งมีพระพิฆเนศ เทพแห่งความร่ำรวยและสุขภาพ เป็นที่นับถือสักการะบูชาของประชาชนในพื้นที่
สถานที่ตั้ง
วัดสมานรัตนาราม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 11 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ริมแม่น้ำบางปะกง ใกล้โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง มีพระประชาธรรมนาถเป็นเจ้าอาวาส มีเนื้อที่จำนวน 26 ไร่ 3 งาน 50 ตร.วา ท่านสามารถกดนำทางได้ที่ปุ่มสีเขียวด้านล่างได้ทันที
วิธีขอพรพระพิฆเนศ
วิธีการขอพรพระพิฆเนศของวัดสมานนั้น จะต้องไปกระซิบที่รูปปั้นหนูมุสิกะ ซึ่งเป็นเหมือนเลขาของพระพิฆเนศ ซึ่งก่อนจะเข้าไปหาหนูสองตัวนั้นก็จะต้องเข้าแถวต่อคิว หากประสงค์สิ่งใดแล้วก็ให้ไปกระซิบที่หูหนูดังกล่าว ตามความเชื่อนั้นเราจะต้องติดสินบนหนูด้วยการทำบุญใส่ตู้ที่วางไว้บริเวณด้านหน้า เพื่อให้หนูนำสิ่งที่เรากระซิบส่งต่อไปยังพระพิฆเนศ เพื่อให้ท่านดลบรรดาลให้สำเร็จ และยังมีเทคนิคเล็กๆที่เวลากระซิบนั้นจะต้องนำมือไปปิดหูอีกข้างของหนูเพื่อไม่ให้พรทะลุออกไปนั่นเอง
หลวงพ่อโต วัดสมาน
หลังจากที่วัดสมานรัตนารามได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ ก็ได้สร้างหลวงพ่อโตองค์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรามาประดิษฐานไว้ให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้มากราบไหว้
พระบรมสารีริกธาตุ เหนือแม่น้ำบางปะกง
นอกจากพระพิฆเนศแล้วภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพบูชาอีกมากหมาย หนึ่งในนั้นคือพระบรมสารีริกธาตุที่ลอยอยู่ในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งสามารถเดินเวียนรอบได้เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีเมตตาโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์
พญานาคา
อีกหนึ่งมุมที่พลาดไม่ได้นั่นก็คือรูปปั้นพญานาค สีเขียวและสีแดง ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคนั้นก็มีมากมาย ซึ่งหลายๆคนก็มักจะชอบขอโชคลาภ ไม่ว่าจะเป็นล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 หรือเลขเด็ดต่างๆ ผู้ที่ชอบแทงหวยก็มักจะขอพรจากพญานาคาสองตนนี้กันอยู่บ่อยๆ
ยันต์วัดสมานรัตนาราม
เป็นยันต์ที่หาดูได้ยากมาก เนื่องจากมีความละเอียดลออ มีการลงคาถาไว้อย่างมีความต่อเนื่องสัมพันธ์ ผสมผสานกับศิลปะคล้ายธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด สัจธรรมของชีวิต ซึ่งวาดไว้อย่างสวยงาม เหมาะแก่การเช่าบูชาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนความหมายอย่างละเอียดนั้นคงจะต้องไปสอบถามท่านเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่งเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ประวัติวัดสมานรัตนาราม
พระประชาธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ได้เปิดเผยประวัติวัดสมานถึงความเป็นมาจนกระทั่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญมากมายว่า ในอดีตมีคหบดีชื่อว่า ขุนสมานจีนประชา หลังจากที่ขุนสมานเสียชีวิตลง ครอบครัวก็มีความประสงค์จะสร้างวัดเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับขุนสมาน จึงได้สร้างวัดนี้ขึ้น โดยในตอนนั้นวัดนี้มีชื่อว่า “วัดใหม่ขุนสมาน” กาลเวลาผ่านไปวัดนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไผ่แสวก” ตามชื่อตำบลที่ตั้งอยู่
จนกระทั่งทางราชการได้ยุบตำบลไผ่แสวกไปรวมกับตำบลบางแล้ว พระเถระผู้ใหญ่พร้อมด้วยภิกษุสามเณร ชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ก็ได้มีมติเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแต่วงศ์ตระกูลของขุนสมาน และให้มีความหมายคล้องกับตำบลบางแก้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดเป็น “วัดสมานรัตนาราม” ตราบถึงปัจจุบัน
รายนามเจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม
- พระสมุห์ทัด สุวัณโณ
- พระสุชิต สุชิโต
- พระครูอนันตธรรมรัต (อนันต์ อติลาโภ)
- พระสมุห์เอี่ยม (เอี่ยม บุญเลอ)
- พระครูสุทธาภิมุข (ผิน สุทฺธาภิมุโข)
- พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ (ไพรัตน์ ปญฺญาธโร) (พ.ศ.๒๕๕๓ –ปัจจุบัน)